วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

คุณลักษณะของผู้นำของโลกตามหลักปรัชญาตะวันออกและปรัชญาตะวันตก

คุณลักษณะของผู้นำของโลกตามหลักปรัชญาตะวันออกและปรัชญาตะวันตกและ
ความสอดคล้องกับทฤษฎีภาวะผู้นำและการบริหารการศึกษา
วิภาวดี มูลไชยสุข
                ในโลกยุคไร้พรหมแดนสิ่งต่างๆได้รับการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง   ระบบเศรษฐกิจ   สังคม  การเมือง  วัฒนธรรม ความนำสมัยของเทคโนโลยีและศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมกลายเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิลพ ทำให้เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนชาติเริ่มถูกกัดกร่อน ผสมผสาน หลอมรวมไปกับสิ่งที่เป็นความทันสมัยจนบางชนชาติขาดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือระบบทางสังคมที่เป็นของตน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีต้นกำเนิดมาจากความล้ำยุคของเทคโนโลยี  กอปรกับระบบการศึกษาในประเทศที่พัฒนาโดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตกมีการศึกษาค้นคว้าพบองค์ความรู้ใหม่ๆทำให้โลกตะวันตกมีอิทธิพล ต่อระบบเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองของประเทศทางตะวันออกที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการค้นหาองค์ความรู้ใหม่เป็นไปได้ล่าช้ากว่า ด้วยเหตุนี้อารยธรรมจากโลกตะวันตกที่พัฒนาแล้วจึงถูกนำมาเผยแผ่สู่สังคมที่ด้อยและอ่อนแอกว่า การรับอารยธรรมใหม่จากโลกตะวันตกนำพาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบริบททางสังคมของโลกตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โลกตะวันออกพยายามจะก้าวสู่ความเป็นสากล ซึ่งความเป็นสากลนั้นยึดเอาโลกตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน  หลายหลายประเทศในโลกตะวันออกต่างถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกโดยไม่รู้ตัว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีผลกระทบต่อทุกทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  สังคมทุกสังคมจะพัฒนาได้ประชาชนในสังคมนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในสาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต การนำความรู้ที่ได้รับมาประกอบอาชีพ พัฒนาวิชาชีพของตนเอง  เรียนรู้เทคโนโลยี วิทยาการใหม่ๆก้าวเดินให้ทันตามกระแสโลกประเทศต่างๆจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกทุกด้าน การจัดระบบทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น  ดังนั้นผู้นำทางการศึกษาจึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและระบบทางการศึกษา 
                การศึกษาไทยในปัจจุบันหากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งแล้ว อาจพบว่าได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการศึกษาแบบตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากนักการศึกษาระดับแนวหน้า ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมจากประเทศตะวันตก ผู้นำทางการศึกษาเหล่านี้ถูกหล่อหลอมโดยแนวคิดแบบตะวันตก จึงยึดเอาแนวคิดแบบตะวันตกเป็นบรรทัดฐานโดยมองว่าระบบการศึกษาแบบตะวันตกมีความเป็นสากล “ความเป็นสากล” เปรียบเสมือนวลีแห่งอุดมคติที่นานาประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่ด้อยพัฒนาพยายามที่จะก้าวไปให้ถึง จึงมักมีแนวนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาให้ก้าวสู่ความเป็นสากล  หากเราหันมาวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่อีกครั้ง เราอาจจะพบคำตอบได้โดยง่ายว่าความเป็นสากลกับความเป็นตะวันตกนั้นแทบจะแยกกันไม่ออก   เราอาจภาคภูมิใจว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจใดๆมาก่อน แต่เราลืมนึกไปว่าเรากำลังถูกทำให้ตกเป็นอาณานิคมโดยไม่รู้ตัว เราอาจกำลังติดกับดักอยู่ภายใต้กรอบของความเป็นตะวันตกที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าความเป็นสากล  ระบบความคิด  วิถีชีวิต  วัฒนธรรม ที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติตะวันออกกำลังถูกกัดกร่อนแทรกซึมจากอารยธรรมตะวันตกที่เรายกย่องว่ามีความล้ำยุคมากกว่า เราได้รับอิทธิพลแบบตะวันตกผ่านช่องทางการสื่อสารหลายช่องทาง  ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย  และผ่านผู้นำทางการศึกษาที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาระดับชาติ จนเราลืมไปว่าทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกผลิตขึ้นคือผลผลิตของระบบการศึกษาที่ยึดตามแนวคิดแบบตะวันตก และแม้ว่าการศึกษาไทยจะยึดตามรูปแบบของแนวคิดในการจัดการการศึกษาแบบตะวันตก เมื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพและศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาโดยระบบการศึกษานี้ อาจพบว่าไม่บรรลุตามเป้าหมายเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้นำทางการศึกษาต้องหันมามองดูว่าการบริหารการศึกษาตามแนวคิดแบบตะวันตกนั้นเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่  หากการศึกษาไทยตามแนวคิดตะวันตกไม่สัมฤทธิ์ผลนักการศึกษาควรหันมาศึกษาปรัชญาตะวันออกในการกำหนดนโยบายหรืออย่างไร
                บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้ชี้ชัดว่าระบบการศึกษาไทยควรจะยึดตามแนวคิดแบบใด แต่จะได้อธิบายคุณลักษณะของผู้นำตามแนวคิดหลักปรัชญาตะวันออกและปรัชญาตะวันตก ชี้ให้เห็นความเหมือนและแตกต่างของปรัชญาทั้งสอง ตลอดจนความสอดคล้องกับหลักทฤษฎีภาวะผุ้นำและการบริหารการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยให้สอดคล้องและสมดุลที่สุด 
แนวคิดของปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก
                ทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันตกมุ่งการศึกษาหาความจริงเพื่อหาคำตอบให้กับปัญหาที่สงสัย อย่างไรก็ตามมีผู้วิเคราะห์ว่าปรัชญาตะวันตกไม่ได้เน้นการปฏิบัติตนเพื่อเข้าถึงความจริง หรือการนำคำตอบที่ได้รับมาสู่การปฏิบัติ ต้องการเพียงเพื่อตอบสนองความสงสัยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงเท่านั้น นอกจากนี้ยังเรียนรู้สิ่งต่างๆแบบแยกส่วน ไม่มีการนำศาสตร์ความรู้ในด้านต่างๆมาเชื่อมโยงกัน
                ทฤษฏีการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาตะวันออกเป็นการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นจริง ลักษณะแนวคิดของปรัชญาตะวันออกนี้มุ่งศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงและรู้จริงปรัชญาตะวันออกมักจะเกี่ยวข้องกับศีลธรรมจริยธรรมเน้นการพัฒนาจิตใจ มุ่งการศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเพื่อตอบข้อสงสัย และนำความรู้ที่ได้ลงสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืนให้บุคคลสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข   ปรัชญาตะวันออกจึงเป็นปรัชญาที่ไม่ได้เน้นความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นให้ลงมือทำ  ทำให้รู้จริงและแจ่มแจ้งในสิ่งที่สงสัยและเหนือสิ่งใดคือการตระหนักถึงความเป็นตัวตนของตนเอง (self realization) หรือการค้นพบตัวเอง
เปรียบเทียบปรัชญาตะวันออกและตะวันตก
                หากจะเปรียบเทียบปรัชญาตะวันออกกับตะวันตกจะพบว่าปรัชญา ตะวันออกจะมีลักษณะเป็นปรัชญาที่เกี่ยวกับชีวิต ที่เน้นให้รู้เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ  ในขณะที่ ปรัชญาตะวันตก มีลักษณะรู้เพื่อรู้  ปรัชญาตะวันออกโดยเฉพาะปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาเชิงศาสนา ซึ่งปรัชญาและศาสนานี้มีบ่อเกิดเดียวกัน ปรัชญาตะวันตก จะแยก ปรัชญากับ ศาสนาออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนปรัชญาตะวันออก พยายามเน้นให้เห็นว่าว่าการเกิดมาในโลกก็เพื่อศึกษาเรียนรู้ให้บรรลุถึงความจริงที่ถ่องแท้ เช่นปรัชญาอินเดีย เน้นการพัฒนาชีวิตเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหลุดพ้นจากโลกปัจจุบัน ปรัชญาตะวันตกจะ มองโลกจากที่เห็นและเป็นอยู่ และมองโลกในแง่บวก เน้นการดำรงชีวิตอยู่ให้เป็นสุขในปัจจุบัน   นอกจากนี้ปรัชญาตะวันออกยังเน้นการดำเนินชีวิตให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างมีความสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกนั้น เน้นการเอาชนะธรรมชาติ โดยหาหนทางที่จะแก้ไขธรรมชาติเพื่อความสุขของมนุษย์และสังคม เช่น ปรัชญา จีน เน้นรู้ความจริง เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจวิถีของธรรมชาติ และล่วงรู้ความต้องการของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความสอดประสานอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์และศีลธรรม มองมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล มองทุกสิ่งโดยยึดหลักสภาวะอันกลมกลืนของสรรพสิ่ง ปรัชญาตะวันออกจึงเป็นการผสานของอุดมคติกับความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจริยศาสตร์และอภิปรัชญาในตัว ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกเน้นการแบ่งส่วน เน้นความขัดแย้งกันของสิ่งที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลที่ตามมา คือ ความคิดจึงแตกแยกออกเป็นหลายส่วน และไม่มีความกลมกลืนกันทางความคิด เน้นการเรียนรู้เพื่อให้รู้ ปรัชญาตะวันตก จึงเป็นการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์
                 อย่างไรก็ตามปรัชญาตะวันตกและตะวันออกก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันกล่าวคือการมุ่งแสวงหาความจริงสูงสุดและพยายามนำเสนอวิถีบรรลุสู่ความจริงอย่างมีเหตุผล หากแต่กลวิธีในการแสวงหาความจริงนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออกโดยเฉพาะปรัชญาจีนจะเน้นความรู้ที่ได้มาโดยทางการหยั่งรู้  จากภายในให้ความสำคัญของการภาวนาและการฝึกฝนอบรมตนเอง ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เน้นความรู้ในเชิงทฤษฏี ความคิดจึงมีลักษณะคาดคะเนและเน้นเหตุและผลตามหลักตรรกะ
ภาวะผู้นำแบบตะวันตก
1.              ภาวะผู้นำแบบกำหนดทิศทาง (Directive leadership)
                ผู้นำแบบกำหนดทิศทางนี้ถือว่าเป็นที่รู้จักกันค่อนข้างแพร่หลายในอเมริกา ผู้นำตามแนวคิดนี้จะเน้นการบริหารโดยผู้บริหารเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการหรือกำหนดทิศทางในการทำงาน
2.              ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (participative)
                ผู้นำแบบมีส่วนร่วมเน้นการทำงานเป็นหมู่คณะอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็นแนวปฏิบัติกันโดยทั่วไปในยุโรปมากกว่าอเมริกา บางแห่งระบุไว้เป็นกฎหมายเช่นในยุโรปตอนเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมัน
3.              ผู้นำแบบสร้างพลังอำนาจ (Empowering)
                ผู้นำแบบสร้างพลังอำนาจเน้นให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีพลังในการทำงาน บริษัทใหญ่ๆในอเมริกาหลายแห่งได้จ้างผู้นำประเภทนี้  แก่นของผู้นำแบบสร้างพลังอำนาจนี้คือการกระคุ้นให้บุคคลากรในองค์กรมีความกระตือรือร้นในการทำงาน โดยยึดหลักว่าผู้นำไม่อาจยิ่งใหญ่และไม่มีคุณค่าใดๆเลยหากไม่สามารถสร้างพลังให้เกิดขึ้นในบรรดาสมาชิกขององค์กร
4.              ผู้นำแบบใช้บารมี (Charismatic )
                ผู้นำแบบใช้บารมีเป็นผู้นำที่ผู้ใต้บังคับบัญชามักปฏิบัติตามมิใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้นำประเภทนี้เป็นผู้จัดการที่ดี หรือเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แต่ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูด มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นและแตกต่างจากบุคคลอื่นๆในสังคม  ความโดดเด่นนี้คือบารมีที่มาให้บุคคลอื่นยอมรับ
5.              ผู้นำตามความนิยม (Celebrity (superstar)
                ผู้นำตามความนิยมนี้ แตกต่างจากผู้นำที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะเป็นผู้นำที่ได้มาจากการมองผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นเกณฑ์  คณะกรรมการผู้บริหารองค์กรจะมองหาผู้นำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในสังคมระดับแนวหน้ามาเป็นผู้นำองค์กร

ผู้นำแบบตะวันออก
                ผู้นำแบบตะวันออกเน้นการบริหารแบบองค์รวมไม่แยกส่วนตามแนวปรัชญาตะวันออก ลักษณะที่สำคัญมองได้คือการมองความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งทั้งหลายซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นผู้นำแบบตะวันออกจึงคำนึงถึงหลักดังต่อไปนี้
1.              วัฒนธรรม
                ผู้นำแบบตะวันออกจะยึดถือวัฒนธรรมของตนเป็นหลักในการบริหารกล่าวคือจะก้าวเดินตามวัฒนธรรมอันดีงามที่มีการประพฤติปฏิบัติในสังคมนั้นๆ
2.              ความประพฤติ
                ผู้นำแบบตะวันออกถือหลักจริยธรรมในการบริหาร ผู้นำที่ดีต้องประพฤติตนดีไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ประพฤติตนตามกฎของบ้านเมือง มีความกล้าหาญและความเมตตากรุณาใช้หลักการประนีประนอมในการบริหาร
3.              ความซื่อสัตย์และจงรักภักดี
                ผู้นำตามแบบตะวันออกจะยึดหลักอาวุโส พร้อมทั้งเน้นให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดี  ไม่คดโกงและเอาเปรียบบุคคลอื่นเคารพบรรพบุรุษ
เปรียบเทียบผู้นำแบบตะวันตกและตะวันออก
                ผู้นำตามแนวคิดแบบตะวันตกและตะวันออกตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกล่าวคือ ผู้นำตามแนวคิดแบบตะวันตกจะเน้นการกระทำให้บรรลุผล  การมีอำนาจ และวิสัยทัศน์  และบริหารแบบแยกส่วนในขณะที่ทฤษฏีภาวะผู้นำแบบตะวันออกจะมีการมองการทำงานแบบองค์รวมบูรณาการเอาเป้าหมายเป็นแนวทางในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำแบบตะวันตกเช่น Plato และ Machivelli จะมองการเป็นผู้นำแบบเข้าถึงความคิดโดยการพิจารณาใคร่ครวญก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ ผู้นำต้องสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และเรียนรู้ที่จะปรับทักษะของตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แนวคิดภาวะผู้นำแบบตะวันตกที่มองสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์เป็นหลักมองว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จในสถานการณ์หนึ่งอาจจะล้มเหลวในอีกสถานการณ์หนึ่งได้ จึงกล่าวได้ว่าไม่มีผู้นำแบบใดที่ดีที่สุด  นอกจากนี้ผู้นำแบบตะวันตกยังมองสิ่งต่างๆแบบแยกส่วน โดยสรุปแล้วผู้นำแบบตะวันตกตั้งอยู่บนพื้นฐานของจุดเน้นหลัก 5 ประการคือ การกำหนดเป้าหมาย  ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ความเด็ดขาดอย่างผู้นำ ผลลัพธ์ในระยะสั้น การใช้เหตุผล  ส่วนผู้นำแบบตะวันออกจะยึดเอาค่านิยมทางสังคมเป็นบรรทัดฐาน เน้นระบบการทำงานที่ทำให้เกิดความราบรื่นประนีประนอม  ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบตะวันตกกำหนดว่าผู้นำต้องมองให้ชัดว่าตัวแปรใดที่จะทำให้ผู้นำเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้ ผู้นำต้องมีความกระตือรือร้นและมีทักษะความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้นำเช่นสติปัญญา และทักษะทางสังคมและผู้นำย่อมแตกต่างไปตามสถานการณ์ อย่าสามารถปรับทิศทางการบริหารให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการยอมตามสภาพแวดล้อมแต่หมายถึงการพยายามหาทางปรับสภาพแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดแบบตะวันออกที่หาวิธีการอยู่กับสภาพแวดล้อมนั้นโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมดังกล่าว
ผู้นำของโลกตามแนวคิดแบบตะวันตกและตะวันออก
                ผู้นำทางโลกตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันในที่นี้ผู้เขียนจะได้ยกตัวอย่างผู้นำแบบตะวันตกและตะวันออกโดยชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่าง
                ขอยกตัวอย่างผู้นำแบบตะวันตกผู้ที่เป็นประธานาธิบดีคนที่สิบหกของสหรัฐอเมริกาคืออับราฮัม ลินคอล์น ลินคอล์นเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1809 เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนำประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤตของสงครามกลางเมือง แต่เขาถูกลอบสังหารภายในเวลาไม่ถึงเดือนหลังสงครามสิ้นสุด  คุณูปการที่ลินคอล์นถูกยกย่องเชิดชูมากที่สุดคือการยกเลิกทาสในปี 1863 หลักการเป็นผู้นำของลินคอล์นสามารถวิเคราะห์ได้จากวลีของเขาที่มีการบันทึกไว้เช่น “ All my life I have tried to pluck a thistle and plant a flower wherever the flower would grow in thought and mind.” จากวลีนี้วิเคราะห์ได้ว่าแม้ผู้นำท่านนี้มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมและความสงบสุขในสังคม มุ่งมั่นที่จะนำสังคมก้าวไปสู่สังคมแห่งอุดมคติของเขาคือเกิดความเสมอภาคกันในสังคม แต่การแก้ปัญหาของท่านเป็นการขจัดสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างถอนรากถอนโคนและมุ่งส่งเสริมสนับสนุนสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ในที่ที่สามารถบริหารจัดการได้  หากโยงไปถึงนโยบายการเลิกทาสพบว่านโยบายดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากระบบทาส ตลอดจนการเหยียดสีผิวและแบ่งแยกชนชั้น ในสังคมอเมริกัน ณ ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน ทำให้ชนผิวขาวที่เป็นสังคมที่มีพลังอำนาจมากกว่าไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการลอบสังหาร
                นอกจากนี้แนวคิดการเป็นผู้นำของลินคอล์นยังมองว่าการมุ่งสูความสำเร็จเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า Always bear in mind that your own resolution to succeed is more important than any other.”  นอกจากนี้ยังมุ่งถึงผลของการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นเกียรติยศชื่อเสียง ลินคอล์นยังมองอีกว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิที่จะเรียกร้องเพื่อเสรีภาพของตนเอง อับบราฮัม ลินคอล์นจึงถือเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย โดยถือว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
                ส่วนผู้นำแบบตะวันออกในยุคที่ความทันสมัยเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในแถบซีกโลกตะวันออก มีผู้นำที่สามารถนำสังคมให้ก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายท่าน  อย่างไรก็ตามผู้นำตะวันออกยุคใหม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบตะวันตก ในที่นี้ผุ้เขียนจึงจะขอยกตัวอย่างผู้นำแห่งประวัติศาสตร์ นั่นคือขงจื๊อที่ถือเป็นปรัชญาเมธีที่ยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันออกที่มีความชาญฉลาดเป็นเลิศสามารถดูแลกิจการบ้านเมืองให้สำเร็จเรียบร้อย ส่งผลให้ดินแดนที่ขงจื้อได้รับโองการจากฮ่องเต้ให้ดูแลนั้นเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ฮ่องเต้และประชาชนล้วนเคารพนับถือขงจื๊อ ท่านเป็นผู้นำทีมีความคิดที่เฉียบคม  คำสั่งสอนของขงจื้อเป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นแนวปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม สอนให้ผู้คนประพฤติตนตามทำนองคลองธรรม เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จากแนวปฏิบัติและคำสอนของท่านปรัชญาเมธีผู้นี้ท่านมีความเป็นภาวะผู้นำสูง มีพลังดึงดูด สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้คนส่วนใหญ่ให้เชื่อและปฏิบัติตาม ซึ่งพลังแห่งการโน้มน้าวของขงจื้อเกิดจากการทีท่านเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงตรง เมตตากรุณา จริงใจ และยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตน  ทำให้ท่านเป็นผู้ที่ทรงอำนาจและเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป  ลักษณะเด่นของขงจื้ออีกประการหนึ่ง คือการมีความเพียรในการเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง แม้การได้มาซึ่งความสำเร็จต้องใช้เวลานานก็ตาม ขงจื้อยังมองว่าคนเราสามารถพัฒนาสติปัญญาได้โดยการคิดถึงแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์  แต่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน
คุณลักษณะของผู้นำทางการศึกษาในปัจจุบัน
                ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นระบบการศึกษาในไทยได้ยึดตามกรอบของตะวันตก  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศมากกว่าสิ่งใด ด้วยเหตุนี้การศึกษาในประเทศไทยในทุกระดับจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง นโยบายทางศึกษามักจะกำหนดกรอบเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เน้นการเรียนรู้แบบสำเร็จรูปเช่น การกำหนดกลวิธีการเรียนการสอนแบบต่างๆจากผู้มีอำนาจระดับนโยบายแล้วผลักดันสู่การปฏิบัติโดยมอบหมายไปตามสายงานใต้บังคับบัญชา  โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมหรือบริบทของสถานศึกษาที่มีศักยภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเมื่อใช้เกณฑ์การประเมินเดียวกันในบริบทที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเห็นได้จากกำหนดให้มีการทดสอบเพื่อวัดความสามารถทางวิชาการของช่วงชั้นต่างๆทั่วประเทศ  การทดสอบนี้ทำให้โรงเรียนที่ขาดความพร้อมด้านครูผู้สอน และแหล่งความรู้ที่ทันสมัยมีผลคะแนนที่ต่ำ และไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่าผู้นำทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.              ผู้นำทางการศึกษาควรคำนึงความเท่าเทียม
                กล่าวคือควรมีการกำหนดนโยบายทางการศึกษาโดยคำนึงถึงบริบทของสถานศึกษาที่แตกต่างและหลากหลาย ก่อนที่จะกำหนดนโยบายให้สถานศึกษาต่างๆนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค แม้ในทางทฤษฎีจะมีการเปิดโอกาสให้มีการศึกษาเรียนรู้อย่างเสรี  แต่เมื่อพิจารณาแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่างมองข้ามการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีความทันสมัยอย่างเท่าเทียมกัน
2.              ผู้นำทางการศึกษาควรกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษาที่มุ่งการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิต
                ในปัจจุบันการศึกษาไทยในปัจจุบัน มุ่งการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ การศึกษาเรียนรู้ในชั้นเรียนจะเน้นการทำคะแนนให้สอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจะเน้นการเรียนเพื่อให้ได้การรับรองวุฒิทางการศึกษา  ไม่เน้นการเรียนรู้เนื้อหาวิชาให้ลึกซึ้งแต่จะเรียนแบบฉาบฉวยเลือกจำเฉพาะจุดเพื่อให้สอบได้ไม่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติเท่าใดนักทำให้ผู้จบการศึกษาไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาวิชาชีพ ด้วยเหตุนี้ผู้นำทางการศึกษาจึงควรกำหนดนโยบายของหลักสูตรที่จะพัฒนาผู้เรียนได้ในระยะยาว
3.              ผู้นำทางการศึกษาควรคำนึงถึงความทันสมัยประกอบกับบริบททางวัฒนธรรม
                การศึกษาไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบตะวันตกดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าผู้นำทางการศึกษามักกำหนดนโยบายตามแบบที่ได้ผ่านการศึกษาอบรมมาแบบตะวันตก อย่างไรก็ตามการนำแนวคิดแบบตะวันตกมาใช้ในบริบททางสังคมแบบตะวันออกย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะการศึกษาแบบตะวันตกไม่มีการผ่อนปรน แต่วัฒนธรรมแบบตะวันออกต้องการการผ่อนปรน ใช้หลักประนีประนอมและเน้นการศึกษาแบบค่อยเป็นค่อยไป   ผู้นำการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันควรนำเอาทฤษฎีแบบตะวันตกและตะวันออกมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย  ผู้นำควรมีความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีแบบตะวันตก มีวินัยในตนเองพึ่งพาตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ควรกำหนดนโยบายการศึกษาอย่างอลุ้มอล่วยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่เอื้อเฟื้อต่อกันแบบตะวันออก